Saturday, November 24, 2012

การระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในเป็ดในประเทศไทย Domestic ducks and H5N1 influenza Epidemic, Thailand

การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง ชนิด H5N1 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา การระบาดได้เกิดในสัตว์หลายชนิดรวมไปถึงการติดเชื้อในคนและเสียชีวิต พบว่าเป็ดเป็นสัตว์ปีกที่มีโอกาสติดเชื้อและแพร่กระจายโรคได้ โดยอาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามที่จะจัดระบบการเลี้ยงเป็ดเพื่อให้สามารถควบคุม การเกิดโรคและการแพร่กระจายในรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำ ได้ ในปัจจุบันสามารถแบ่งแยกระบบการเลี้ยงเป็ดในประเทศไทยได้เป็น 4 รูปแบบ (รูปที่ 1) ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เป็นการเลี้ยงในระบบปิดที่มีการป้องกันโรคอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันเลี้ยงเป็ดเนื้อเพื่อการส่งออก รูปแบบที่ 2 เป็นโรงเรือนเปิด มีระบบการป้องกันโรคที่พอใช้ แต่ยังยังมีระดับความเสื่ยงในการเกิดโรคได้บ้าง ส่วนใหญ่มักเป็นการเลี้ยงเป็ดเนื้อและเป็ดไข่ รูปแบบที่ 3 เป็นการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการเกิดโรคไข้หวัดนก รูปแบบที่ 4 เป็นการเลี้ยงเป็ดหลังบ้าน ซึ่งได้แก่เป็ดเทศ ลูกผสมเป็ดเทศ หรือเป็ดไข่ที่เลี้ยงไว้รับประทานไข่ในครัวเรือน ตลอดระยะเวลาของการเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าติดตามหาเชื้อไวรัสในเป็ดและสัตว์ปีกอื่น ๆ และได้มีการทำลายฝูงเป็ดที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดสายพันธุ์รุนแรง H5N1 นอกจากนี้มีความพยายามที่จะนำฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้าสู่โรงเรือน ซึ่งมีปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประการในการปฏิบัติจริง และยังคงต้องปรับปรุงมาตรการอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามจากการศึกษาไวรัสที่แยกได้จากสัตว์ปีกโดยเฉพาะเป็ด พบว่าเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่ ปี 2547 จนถึง 2549 สามารถก่อโรคด้วยความรุนแรงที่ต่างกันในเป็ดที่ทดลองในห้องทดลองความปลอดภัย ชีวภาพระดับ 3+ ณ สถาบัน St. Jude Children’s Research Hospital สหรัฐอเมริกา โดยพบว่าเชื้อไข้หวัดนกที่แยกได้ในปี 2547 ยังคงก่อโรคและทำให้เป็ดทดลองตาย 100% ในขณะที่ในปี 2548 และ 2549 ความรุนแรงที่ก่อโรคในเป็ดลดน้อยลง นอกจากจะศึกษาการก่อโรคของเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในเป็ดแล้ว ได้มีการศึกษาความสามารถในการปล่อยเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งการศึกษาได้กระทำระหว่างที่มีการระบาดในปี 2547-2548 พบว่า เป็ดไล่ทุ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเป็ดไข่พันธุ์ผสมพื้นเมือง-กากีแคมเบลล์ สามารถปล่อยไวรัสทางอุจจาระได้เป็นเวลา 7-10 วันก่อนที่จะแสดงอาการป่วย และอาจเห็นอาการป่วยไม่ชัดเจน แต่มักจะตายด้วยโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วยเป็นต้นว่า โรคกาฬโรคเป็ด การติดเชื้อรา โรคอหิวาต์ ฯลฯ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเป็ดไล่ทุ่งไปใน สถานที่เลี้ยงต่างๆ หรือในทุ่งนาอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้หวัดนกได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็คือ เป็ดไล่ทุ่งเหล่านี้ไม่เคยเดินหรือเข้าไปในฟาร์มสัตว์ปีกแต่อย่างใด ดังนั้นบทบาทของคนและนกธรรมชาติที่สามารถนำเชื้อไข้หวัดนกติดต่อระหว่างเป็ด ไล่ทุ่งและฟาร์มจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป ขณะนี้ทางคณะวิจัย กำลังศึกษาเรื่องการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไข้หวัดนกอยู่โดยได้รับทุนวิจัยจาก กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


รูปที่ 1A การเลี้ยงเป็ดในระบบปิดที่มีการป้องกันโรค (Biosecurity) อย่างสมบูรณ์
รูปที่ 1B การเลี้ยงเป็ดในโรงเรือนเปิด แต่ยังมีระบบการป้องกันโรคในระดับกลาง ซึ่งไม่สา มารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดโรคได้
รูปที่ 1C การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนกสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเป็ดไปในหลายพื้นที่และไม่มีระบบการป้องกันโรค
รูปที่ 1D การเลี้ยงเป็ดหลังบ้าน โดยที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคอย่างดี มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคระบาด
สามารถติดตามเนื้อหาการผลงานวิจัยใน
        Thaweesak Songserm, Rungroj Jam-on, Numdee Sae-Heng, Noppadol Memak, Diane J. Hulse Post, Katharine M. Sturm-Ramirez and Robert G. Webster. 2006. Domestic ducks and H5N1 influenza epidemic, Thailand. Emerging Infectious Diseases. Vol 12, no 4., April, 575-581. http://www.cdc.gov/eid

0 comments:

Post a Comment